สารรองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เริ่มทบทวนและเข้าสู่ขั้นตอนในการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2565 – 2580) แทนแผนยุทธศาสตร์ 15 ปี ฉบับเดิม (พ.ศ. 2553 – 2567) ซึ่งใกล้จะหมดช่วงเวลาลง โดยมีกรอบในการร่างแผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยในที่สุด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือการเป็น
“มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้เพื่อสังคม (Learning University for Society)” และได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์หลักเป็น 3 ด้าน ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเป็นผู้นำทางการศึกษา (Educational Leader)
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาล (High Performance and Good Governance Organization)
ยุทธศาสตร์ที่ 3 งานด้านพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม (Social Engagement)
โดยจาก 3 ยุทธศาสตร์หลักข้างต้น ได้แตกประเด็นย่อยเป็นยุทธศาสตร์รองและตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเป็นระยะรายปีและระยะ5 ปี โดยทุกยุทธศาสตร์นั้นจะสอดคล้องกับการดําเนินงานตาม พันธกิจ 4 ด้านของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม และด้านทํานุ
บํารุงศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ จากการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (Reinventing University) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสังคมและชุมชนอื่น ( The Area-Based and Community Engagement) ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงให้ความสําคัญกับงานด้านพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม โดยมหาวิทยาลัยได้กําหนดแผนปฏิบัติการและตัวชี้วัด สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 ของมหาวิทยาลัย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามเป้าประสงค์ ไว้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การบริการเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง
และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยกำหนดจัดทำเป็นแผนแม่บท
มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม
ประเด็นที่ 2 การบริการเพื่อสังคมแบบบูรณาการ (Integrated social services) โดยยึดหลัก
University Engagement ประกอบด้วย
1. ร่วมคิดร่วมทำแบบพันธมิตรและหุ้นส่วน (Partnership)
2. เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Mutual Benefits)
3. มีการให้ความรู้และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Scholarship)
4. เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (Measurable Social Impact)
ประเด็นที่ 3 วัฒนธรรมและศิลปะเพื่อชุมชน (Art and culture for community)
โดยมี ส่วนกิจการเพื่อสังคม เป็นหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่รับผิดชอบกรอบยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม มุ่งเน้นการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริม พัฒนา สร้างแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม รวมทั้งการดำเนินการด้านพันธกิจต่อสังคมของมหาวิทยาลัย ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม โดยมีการดำเนินงานที่มุ่งยกระดับเพิ่มพูนความรู้ นวัตกรรม การกระจายโอกาส ส่งเสริมการศึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ท้องถิ่น ประชาชน ทั้งในเมืองและชนบท ติดตามและประเมินผล เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด